ท่อเดินสายไฟ คืออะไร ?

เมื่อพูดถึงการเดินสายไฟ ในปัจจุบันก็มีวิธีการเดินสายไฟในหลากหลายรูปแบบทั้งชนิดแบบเดินลอย การเดินสายไฟฝังในผนัง การเดินสายไฟใต้ฝ้า ซึ่งในแต่ละชนิดก็จะมีความซับซ้อนในการติดตั้งที่แตกต่างกันออกไป แต่ในแต่ละวิธีนั้นก็มีจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งหลากหลายชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เราจะมากล่าวในบทความนี้คือ “ท่อเดินสายไฟ”

ท่อเดินสายไฟ คืออะไร ?

ท่อเดินสายไฟ หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท่อร้อยสายไฟ เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่มีไว้ใช้ในการติดตั้งระบบไฟฟ้า มักจะใช้กับสายไฟเป็นหลัก หรืออาจจะใช้กับสายชนิดอื่นๆ ได้ เช่น สายเคเบิ้ล สายแลน เป็นต้น ซึ่งตัวท่อเดินสายไฟนี้จะช่วยในการติดตั้งให้เป็นระเบียบ เป็นเส้นทางสำหรับสายไฟที่จะติดตั้งไปยังจุดต่างๆ ช่วยป้องกันสายไฟจากสภาพแวดล้อมภายนอก ที่จะทำให้สายไฟนั้นเสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นการเลือกเดินสายไฟเข้าไปในตัวท่อจึงทำให้สายไฟมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น โดยท่อเดินสายไฟจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทแบบง่ายๆ ตามวัสดุ สามารถตามต่อได้เลยครับ

ตัวอย่างการเดินสายไฟแบบฝังผนัง และแบบเดินลอย
ตัวอย่างการเดินสายไฟแบบฝังผนัง และแบบเดินลอย

ประเภทของท่อเดินสายไฟ

1. ท่อเดินสายไฟ ชนิดโลหะ

ท่อเดินสายไฟชนิดโลหะ จะเป็นท่อชนิดที่ผลิตจากโลหะ ทั้งจากเหล็กกล้า สแตนเลส หรือวัสดุอื่นๆ เป็นประเภทของท่อที่มีความแข็งแรงและทนทานสูง มีความเงางาม ซึ่งท่อเดินสายไฟชนิดโลหะก็ยังมีแยกย่อยเป็นชนิดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้

  1. ท่อโลหะขนาดบาง (EMT – Electrical Metallic Tubing) – เป็นท่อโลหะที่มีพื้นผิวเรียบ มันวาวทั้งภายในและภายนอก ผลิตจากแผ่นเหล็กกล้าชนิดรีดร้อน รีดเย็น หรือแผ่นเหล็กกล้าเคลือบสังกะสี ภายในตัวท่อมีการเคลือบด้วยอีนาเมล ปกติจะผลิตท่อเป็นแบบตรงความยาวประมาณ 3 เมตร (10 ฟุต) และมีขนาดท่อตั้งแต่ 1/2″ ~ 2″ ซึ่งท่อชนิด EMT เป็นท่อที่นิยมนำไปติดตั้งแบบเดินลอยภายในอาคาร หรือฝังภายในผนังคอนกรีต แต่ไม่เหมาะสำหรับไปติดตั้งฝังในพื้น หรือกับระบบไฟฟ้าแรงสูง
  2. ท่อโลหะขนาดกลาง (IMC – Intermediate Conduit) – เป็นท่อโลหะที่มีพื้นผิวเรียบ มัมวาวทั้งภายในและภายนอกตัวท่อ ผลิตจากเหล็กกล้าชนิดรีดร้อน รีดเย็น หรือแผ่นเหล็กกล้าเคลือบสังกะสี และเคลือบภายในด้วยอีนาเมล ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่คล้ายกับท่อชนิด EMT แต่จะมีความหนากว่า และปลายท่อจะมีการทำเกลียวไว้ทั้ง 2 ด้าน มักจะผลิตมีความยาวท่อประมาณ 3 เมตร (10 ฟุต) และมีขนาดท่อตั้งแต่ 1/2″ ~ 4″ โดยท่อชนิดนี้ สามารถนำไปติดตั้งทั้งในแบบเดินลอยภายนอกอาคาร ฝังในผนังคอนกรีต ฝังในพื้น
  3. ท่อโลหะขนาดหนาพิเศษ (RSC – Rigid Steel Conduit) – เป็นท่อโลหะที่มีพื้นผิวเรียบ ผลิตจากเหล็กกล้าชนิดรีดร้อน รีดเย็น หรือแผ่นเหล็กกล้าเคลือบสังกะสีทั้งผิวภายในและภายนอก มีความหนาที่มากกว่า ท่อชนิด IMC ด้านปลายของตัวท่อมีเกลียวทั้ง 2 ด้าน และเป็นท่อชนิดที่สามารถดัดให้โค้งงอได้โดยเครื่องดัดท่อ หรืออาจจะเลือกใช้เป็นข้อต่องอสำเร็จรูป มักจะผลิตมีความยาวท่อประมาณ 3 เมตร (10ฟุต) และมีขนาดท่อตั้งแต่ 1/2″ ~ 6″ โดยท่อชนิดนี้เหมาะสำหรับติดตั้งนอกอาคาร ฝังในผนัง รวมถึงพื้นคอนกรีต
  4. ท่อเฟล็กซ์อ่อน (Flexible Metal Conduit) – เป็นท่อโลหะที่มีความยืดหยุ่น สามารถดัดโค้งงอได้เป็นอย่างดี ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบด้วยสังกะสี รวมถึงสแตนเลส เป็นชนิดท่อที่เหมาะสำหรับติดตั้งภายในอาคาร โรงงาน เครื่องจักร ควรติดตั้งภายในพื้นที่แห้ง เพราะไม่สามารถป้องกันน้ำและความชื้นได้มากนัก รวมถึงไม่เหมาะสำหรับฝังลงไปในดิน หรือคอนกรีต และไม่ควรนำไปใช้ไปเป็นตัวนำแทนสายดิน ท่อชนิดนี้มักจะผลิตที่มีความยาวได้มากกว่าท่อชนิดแข็ง เพราะสามารถดัดโค้งเป็นม้วนได้ โดยจะมีความยาวต่อม้วน ตั้งแต่ 10 – 100 เมตร ตามขนาดของตัวท่อ โดยท่อชนิดนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 3/16″ ~ 3″
  5. ท่อเฟล็กซ์อ่อนกันน้ำ – เป็นท่อโลหะที่มีความยืดหยุ่น สามารถนำมาดัดโค้งงอได้ ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบด้วยสังกะสี รวมถึงสแตนเลส และทำการเคลือบด้วยพลาสติกชนิด PVC อีกชั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันของเหลวและความชื้นให้กับสายไฟภายในตัวท่อ สามารถนำไปติดตั้งภายในอาคาร โรงงาน ที่ไม่มีความร้อนสูง หรือมีสะเก็ตไฟที่จะสัมผัสกับตัวท่อ เพราะตัวพลาสติกไม่ได้มีการทนความร้อนที่สูงมากนัก ท่อชนิดนี้สามารถจัดเก็บเป็นม้วนได้ มีความยาวท่อตั้งแต่ 10 ~ 100 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวท่อ โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 3/16″ ~ 3″
  6. ท่อเฟล็กซ์เหล็กถัก – เป็นท่อโลหะที่ยืดหยุ่น สามารถตัดโค้งงอได้ ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบด้วยสังกะสี และหุ้มด้วยเส้นใยสแตนเลสถัก ท่อชนิดนี้สามารถทนความร้อนได้ดี สามารถป้องกันสะเก็ดไฟได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับไปติดตั้งในพื้นที่ที่มีของเหลว ความชื้น เพราะท่อชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันของเหลวได้ดีนัก ท่อชนิดนี้สามารถจัดเก็บเป็นม้วนได้ มีความยาวต่อม้วนประมาณ 5 ~ 100 เมตร ตามขนาดของตัวท่อ โดยท่อชนิดนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 1/4″ ~ 4″
  7. ท่อเฟล็กซ์เหล็กถักกันน้ำ – เป็นท่อโลหะที่มีความยืดหยุ่น ดัดโค้งงอได้ ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบด้วยสังกะสี เคลือบด้วยพลาสติก PVC เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันความชื้นและของเหลว และหุ้มด้วยเส้นใยสแตนเลสถัก ท่อชนิดนี้สามารถป้องกันสะเก็ดไฟได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับติดตั้งในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง ท่อชนิดนี้สามารถเก็บเป็นม้วนได้ มีความยาวต่อม้วนประมาณ 5 ~ 100 เมตร ตามขนาดของตัวท่อ โดยท่อชนิดนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 1/4″ ~ 4″

2. ท่อเดินสายไฟ ชนิดพลาสติก

ท่อเดินสายไฟ ชนิดพลาสติก เป็นท่อที่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งจะมีน้ำหนักเบา ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า ทั้งพลาสติกชนิด PA, PE, PP, PVC และอื่นๆ ซึ่งจะมีราคาที่ถูกกว่าท่อชนิดโลหะ ซึ่งท่อเดินสายไฟชนิดพลาสติกก็ยังมีแยกย่อยเป็นชนิดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้

  1. ท่อพลาสติก PVC – เป็นท่อที่แข็งผลิตจากพลาสติกชนิด PVC ซึ่งมีคุณสมบัติที่ทนต่อความชื้น ไม่เป็นสนิม ซึ่งท่อชนิด PVC จะเป็นท่อชนิดแข็ง ปกติจะมีการผลิตยาวประมาณท่อนละ 4 เมตร ขนาด 1/2″ ~ 4″ เป็นท่อที่มีคุณสมบัติต้านเปลวไฟ แต่ถ้าถูกไฟไหม้จะก่อสารพิษที่เป็นอันตราย และยังไม่ทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลต จึงไม่เหมาะสำหรับติดตั้งภายนอกอาคาร เพราะจะกรอบแตกได้อย่างรวดเร็ว และบริเวณที่มีการกระแทกหรือบริเวณที่อาจจะเกิดความเสียหายทางกายภาพ ท่อชนิด PVC จะพบได้บ่อยอยู่ 2 สี คือ
    • สีเหลือง – เป็นท่อพลาสติก PVC ที่มักจะถูกนำไปใช้ติดตั้งฝังในผนังสีขาว – เป็นท่อพลาสติก PVC ที่มักจะถูกนำไปติดตั้งแบบเดินลอย
  2. ท่อ HDPE (High Density Polyethylene) – เป็นท่อชนิดที่ผลิตจากพลาสติกชนิด Polyethylene ชนิด High Density ซึ่งมีความแข็งแรงสูง ทนต่อแรงอัดได้ดี มีคุณสมบัติต้านเปลวไฟ สามารถยึดหยุ่นได้ มีทั้งแบบผิวเรียบและลูกฟูก สามารถนำมาใช้ติดตั้งได้หลากหลาย ทั้งบนพื้นผิวโล่ง บนฝ้า ใต้ดิน มักจะมีการผลิตขนาด 1/2″ ขึ้นไป
  3. ท่อเฟล็กซ์อ่อนพลาสติก – เป็นท่อพลาสติกที่มีลักษณะเป็นลูกฟูก มีความยืดหยุ่น ดัดโค้งงอได้ดี โดยวัสดุที่ถูกนำมาใช้ผลิตจะเป็นพลาสติกชนิด PA (Polyamide), PE (Polyethylene) และ PP (Polypropylene) ซึ่งในแต่ละชนิดของวัสดุก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป

ทำไมถึงต้องเลือกใช้ท่อเดินสายไฟ

  1. ความเป็นระเบียบ – การเดินระบบไฟฟ้าด้วยการใช้ท่อเดินสายไฟ จะช่วยทำให้เส้นทางของสายไฟดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับสายไฟที่อาจจะทำให้สายไฟเสียหาย หรือเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน
  2. ความปลอดภัย – การเดินระบบไฟฟ้าด้วยการใช้ท่อเดินสายไฟ จะช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากระบบไฟฟ้าได้ ถ้าหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจร สะเก็ดไฟที่เกิดขึ้นก็จะถูกจำกัดอยู่ในท่อ ไม่หลุดออกมาด้านนอกที่อาจจะสัมผัสกับวัตุไวไฟที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้
  3. ช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟ – เพราะสายไฟที่ทำการเดินแบบปกติ จะสัมผัสกับสภาพแวดล้อมโดยตรง ซึ่งจะต้องสัมผัสกับทั้งอากาศ แสงแดด ของเหลว ความชื้น สารเคมี สัตว์และแมลง ที่ทำจะทำให้สายไฟมีอายุการใช้งานที่สั้นลง การใช้ท่อเดินสายไฟ จะช่วยป้องกันจากสภาพแวดล้อมภายนอก จึงทำให้สายไฟ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น
  4. มีความจำเป็นเมื่อต้องร้อยสายไฟแบบฝังผนังและฝังพื้น – เพราะอาจจะทำให้การดำเนินการเดินสายไฟได้ยาก และสายไฟก็ไม่สามารถรับแรงกด แรงอัดได้มากพอ ดังนั้นท่อเดินสายไฟจึงจำเป็นที่ต้องใช้การติดตั้งแบบดังกล่าว เพราะตัวสายไฟเอง ก็ไม่สามารถทนต่อการกดแรงอัดได้มากพอ ท่อเลยเป็นสิ่ง โดยเฉพาะสายแบบฝังดิน ที่ต้องรองรับกับแรงกดโดยตรง ท่อจึงเป็นเป็นตัวที่รับแรงกด แรงอัดจากสภาพแวดล้อมแทน และยังเป็นเส้นทางให้เดินสายไฟได้อย่างสะดวก สำหรับการเดินฝังผนังโดยปกติจะมีการเจาะผนังที่ทำจากวัสดุต่างๆ เช่น อิฐบล๊อค อิฐมวลเบา เป็นต้น ให้เป็นเส้นทางของสายไฟ จะมีการโบกปูนทับเมื่อเดินสายเสร็จเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องมีท่อ มิเช่นนั้นสายไฟจะติดกับผนังและไม่สามารถแก้ไขได้อีกในอนาคต

ข้อสังเกตของการเลือกใช้ท่อเดินสายไฟ

  1. มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องจัดซื้อท่อร้อยสายไฟเพิ่มด้วยในการติดตั้ง
  2. ใช้เวลาในการติดตั้งที่มากกว่า เพราะจะต้องเดินเส้นทางของสายไฟ รวมถึงร้อยสายเข้าไปภายในท่อ
  3. ในขั้นตอนการบำรุงรักษา อาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขที่มากกว่าการร้อยสายไฟแบบเปลือย ทั้งในระหว่างรื้อสายออกจากท่อและการร้อยสายกลับเข้าไปในท่อ

การเลือกเดินสายไฟทั้งภายในบ้านและโรงงาน การเลือกเดินสายไฟโดยใช้ท่อเดินสายไฟก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการติดตั้งสายไฟแบบฝังผนังและแบบฝังดิน แต่สำหรับการเดินสายไฟแบบเดินลอยก็ยังมีตัวเลือกอื่นเช่นเดินแบบติดกิ๊บรัดสายไฟ ก็สามารถเดินสายไฟให้เป็นระเบียบได้ แต่สายไฟก็ยังสัมผัสกับสภาพแวดล้อมโดยตรง อาจจะทำให้สายไฟเสื่อมสภาพได้ไว ดังนั้นการเลือกใช้ท่อเดินสายไฟจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน