มอก. คืออะไร ?

ปัจจุบันนี้มีมาตรฐานมากมาย ที่ถูกระบุไว้ในสินค้า อาทิเช่น CE, IP Standard, RoHS เป็นต้น ซึ่งมาตราฐานเหล่านี้เป็นมาตรฐานสากลจากต่างประเทศ แต่ถ้าพูดมาตรฐานที่เป็นสากลในประเทศไทยตัวที่สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คงจะไม่พ้น มาตรฐาน มอก.

มาตรฐาน มอก. คืออะไร ?

มอก. หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thai Industrial Standard – TIS) ซึ่งหน่วยงานที่เป็นผู้ที่ให้มาตรฐานชนิดนี้คือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ผลิตสินค้า ให้สามารถผลิตสินค้าออกมาจัดจำหน่ายให้มีคุณภาพที่เหมาะสม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการใช้งาน และมีคุณภาพที่เหมาะสม

โดยในปัจจุบันมาตรฐาน มอก. ก็มีการครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายที่อยู่ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหาร, วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

รูปแบบของ มาตราฐาน มอก.

รูปแบบของ มาตรฐาน มอก.
ภาพตัวอย่างมาตรฐาน มอก. ไม่ได้อ้างอิงถึงสินค้าใดทั้งสิ้น

มาตรฐาน มอก. ที่เราสามารถพบได้ตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยทั่วไปสัญลักษณ์ที่พบเห็นได้บ่อยจะมีสัญลักษณ์ด้านรูปแบบในด้านบน และจะมีตัวหนังสือที่ระบุว่า สินค้านี้ได้รับ มาตรฐาน มอก. เลขที่เท่าไหร่ ดังนี้

  1. รูป Logo ของ มอก.
  2. ลำดับที่ในการออกเลข มอก.
  3. ปี พ.ศ. ที่ได้ออกเลข มอก.

สำหรับสีของสัญลักษณ์ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสีเสมอไป เพราะในฉลากของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็มักจะถูกตีพิมพ์มาในรูปแบบภาพขาวดำ

ทำไม เครื่องหมาย มอก. จึงมีความสำคัญ

เครื่องหมาย มอก. จะพูดความมาตรฐานของสินค้าที่ได้รับการผลิต ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นในหลายๆ ด้านดังนี้

ประโยชน์ต่อผู้ผลิต

  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
  • ช่วยลดรายจ่าย ลดเครื่องจักร ลดขึ้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
  • ทำให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพที่สม่ำเสมอ
  • ทำให้คุณภาพสินค้าดีขึ้น แต่มีราคาที่ถูกลง
  • เพิ่มโอกาสในการขาย เพราะในหลายๆ องค์กรในการจัดซื้อต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ และมาตรฐานรองรับ

ประโยชน์ต่อผู้บริโภค

  • สินค้าที่มี มอก. มีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า
  • ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้ามีมาตรฐาน และปลอดภัย
  • หากชำรุด สามารถหาสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกัน มาใช้ทดแทนกันได้
  • มีวิธีการบำรุงรักษาใกล้เคียงกัน ไม่ต้องหัดใช้สินค้าใหม่ทุกครั้ง
  • ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี ในราคาคุ้มค่า

ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวมหรือประโยชน์ร่วมกัน

  • ช่วยเป็นสื่อกลาง ที่ให้มีความเข้าใจตรงกัน
  • ทำให้เกิดความยุติธรรมในการซื้อขาย
  • ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
  • สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ผลิต
  • ช่วยลดและป้องกันสินค้าที่มีคุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่าย
  • สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

เครื่องหมาย มอก. มีรูปแบบใดบ้าง ?

มาตรฐาน ทั่วไป

มาตรฐาน มอก. แบบทั่วไป

เป็นเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ที่ทาง สมอ. กำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ ไว้ ซึ่งผู้ผลิตสามารถยื่นความจำนง เพื่อทำการขอคำรับรองคุณภาพจาก สมอ. ได้โดยตามความสมัครใจ ซึ่งจะแสดงถึงคุณภาพสินค้าที่ตรงไปตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดในมาตรฐาน และเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้านั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่า

มาตรฐาน บังคับ

มาตรฐาน มอก. แบบบังคับ

เป็นเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ที่ทาง สมอ. กำหนดไว้ว่า เป็นสินค้าที่จำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น ทั้งการผลิต นำเข้าและจำหน่าย เพื่อคุ้มครองให้กับผู้บริโภคว่า สินค้านั้นมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในประเทศ

มอก.S

มอก.S (SME)

เป็นเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ที่ทาง สมอ. กำหนดออกมาเพื่อรับรองคุณภาพสินค้า ที่ถูกนำมาออกจัดจำจ่ายจากผู้ประกอบการ SME เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของท้องตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชม (มผช.)

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชม (มผช.)

เป็นเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ที่ทาง สมอ. กำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสำหรับสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องคุณภาพสินค้าของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และสอดคล้องกับนโยบาย OTOP

มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.)

มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.)

เป็นเครื่องหมายมาตรฐาน ที่ทาง สมอ. ออกให้ ที่กำหนดถึงด้านมาตรฐานของระบบบริหารงาน เช่น ระบบบริหารงานคุณภาพ ห้องปฎิบัติการ การจัดการความปลอดภัยในโรงเรียน แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร เป็นต้น ซึ่งทางผู้ประกอบการสามารถยื่นขอการรับรองได้โดยสมัครใจ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ การยอมรับ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

และตอนนี้ทาง สมอ. ก็ได้มีเครื่องมือที่จะให้เราสามารถค้นหารายชื่อมาตรฐาน มอก.ได้ง่ายๆ ที่ลิ้งนี้

http://appdb.tisi.go.th/tis_dev/p3_tis/p3tis.php?data=B

ขอบคุณที่มา :
tisi.go.th / kachathailand.com