ลดค่าไฟด้วยโซล่ารูฟท็อป (Solar Roof Top) อีกหนึ่งในช่องทางประหยัดไฟฟ้า

ไฟฟ้า ในปัจจุบันแทบจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้ในการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ล้วนใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ทั้งทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น แต่เมื่อเรายิ่งใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าก็สูงขึ้นตามไปด้วย ค่าไฟจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับทุกครัวเรือน ซึ่งค่าไฟนี้จะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กระแสการประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกจึงได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะโซล่าร์รูฟท็อป (Solar Roof Top) หรือ หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะมาพูดถึงในบทความนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการใช้งานพลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

โซล่าร์รูฟท็อป (Solar Roof Top) คืออะไร ?

Solar Roof Top เป็นระบบหนึ่งที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และผลิตไฟฟ้าขึ้นด้วยอุปกรณ์ แผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) โดยการติดตั้งนั้นจะทำการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บริเวณหลังคาที่พักอาศัย โรงงาน หรืออาคารต่างๆ และจะทำการแปลงกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้แสงอาทิตย์ที่เป็นกระแสตรง (DC) นำส่งไปยัง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) และทำการแปลงกระแสไฟฟ้าให้เป็น ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แล้วถึงจะนำไปแจกจ่ายใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านได้

Solar Roof Top เหมาะสมกับใคร

ตามหลักของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก แผงโซล่าเซลล์ นั้นจำเป็นจะต้องผลิตจากแสงอาทิตย์ ดังนั้นแผงโซล่าเซลล์นั้นจำเป็นจะต้องผลิตไฟฟ้าใน พื้นที่ที่มีแสงแดดกระทบ เช่น หลังคา บนพื้นที่โล่ง และแสงแดดจะมีเฉพาะในเวลากลางวัน ดังนั้นการเลือกติดตั้งโซล่ารูปท็อปจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานไฟฟ้าในเวลากลางวัน

ประเภทของ Solar Roof Top

1. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ On-Grid

เป็นระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป ประมาณ 100,000 ~ 200,000 บาท สำหรับปริมาณกระแสไฟฟ้าประมาณ 5KW ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 2,500 ~ 3,500 บาทต่อเดือน จุดเด่นของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดนี้ คือ จะทำการใช้พลังงานไฟฟ้าจากที่ผลิตได้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับจากการไฟฟ้าร่วมกันในเวลากลางวัน และใช้กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าอย่างเดียวในเวลากลางคืน โดยที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้งกับระบบจัดเก็บไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ และระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ On Grid ยังสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในส่วนที่เหลือจากการใช้งานไปขายให้กับการไฟฟ้าได้อีกด้วย

2. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Off-Grid

เป็นระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตขึ้นเองเท่านั้น โดยไม่ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแต่อย่างใด ซึ่งจะทำการเก็บกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่หรือไม่ก็ได้ โดยระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าในระบบนี้จะเหมาะสำหรับจุดที่ไม่มีไฟฟ้า หรือไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

3. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Hybrid

เป็นระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผสมกันระหว่าง On Grid และ Off Grid โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น และจากการไฟฟ้า โดยกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตขึ้นจะถูกจัดเก็บในแบตเตอรี่ก่อน เพื่อที่สามารถนำพลังงานดังกล่าวมาใช้งานในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์หรือเวลากลางคืน และเมื่อพลังงานในแบตเตอรี่ไม่พอใช้งานก็จะทำการดึงกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันระบบแบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะมีค่าใข้จ่ายในการติดตั้งที่สูงมากๆ

จากประเภทของโซล่ารูฟท็อป โการติดตั้ง Solar Roof Top ในปัจจุบันมีความนิยมที่จะติดตั้งในระบบ On Grid ซึ่งจะไม่มีการสำรองพลังงานไฟฟ้าเอาไว้ในแบตเตอรี่ เพราะระบบ Hybrid จะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งนั้นสูงกว่ามากๆ ส่วนแบบ Off Grid มักจะไปติดตั้งกับพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่นบนพื้นที่บนเขา หรือจุดที่เดินสายไฟแล้วมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากไม่คุ้มกับการติดตั้ง

ปัจจัยในการผลิตไฟฟ้าของโซล่ารูฟท็อป

ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นกับปริมาณการรับแสงอาทิตย์โดยตรงซึ่งจะมีปัจจัยหลักๆ ดังนี้

  1. ปริมาณแผงโซล่าร์เซลล์ที่ติดตั้ง : ยิ่งมีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เป็นจำนวนมากก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น แต่ก็จะใช้พื้นที่ในการติดตั้งเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  2. ทิศทางการรับแสงจากการติดตั้ง : เพราะดวงอาทิตย์ ขึ้นจากทิศตะวันออก และตกลงในทิศตะวันตก การเลือกมุมที่จะติดตั้งก็จะส่งผลต่อกำลังการผลิตได้ด้วยเช่นกัน
  3. ปริมาณแสงแดด : หากอยู่ในเวลาที่มีแดดจัดการผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้ามีเมฆที่บดบังดวงอาทิตย์บ่อยๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ลดลง

ถ้าจะติดตั้ง  Solar Roof top ต้องติดต่อใครบ้าง

ก่อนจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะติดต่อกับช่างที่ทำการติดตั้งแล้ว ยังจะต้องมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการก่อนที่จะทำการติดตั้งอีกด้วย ดังนี้

1. สำนักงานเขตในท้องถิ่น

การที่จะทำการติดตั้ง Solar Roof Top จะต้องมีการประเมินพื้นที่การติดตั้ง เพื่อดูถึงความแข็งแรง ตามหลักวิศวกรโยธา โดยที่ไม่เข้าข่ายการตัดแปลงอาคาร โดยจะต้องเตรียม เอกสารแบบแปลนแผงผังและโครงสร้างหลังคา โครงสร้างรองรับแผงโซล่าเซลล์ รวมถึงรายละเอียดการติดตั้ง

2. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

การจะติดตั้ง Solar Roof Top จำเป็นจะต้องยื่นแบบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานจาก สำนักงาน กกพ. ก่อน

3. การไฟฟ้านครหลวง / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ไม่ว่าจะทำการติดตั้งแบบที่ใช้งานเพียงอย่างเดียว หรือจะขายคืนให้กับการไฟฟ้าด้วย จำเป็นจะต้องขอยื่นเรื่องขอขนานไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก่อน เพื่อที่จะได้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายกับโครงข่ายไฟฟ้า โดยอุปกรณ์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้า โดยจะมองอินเวอร์เตอร์และอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าย้อนกลับเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัย ป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบไฟฟ้าทั้งระบบ

ประเภทของการยื่นขออนุญาติจากการไฟฟ้า

1. ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร โดยไม่ขายไฟฟ้า : โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนานกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า โดยใช้งานภายในบ้านและไม่มีการขายไฟฟ้าคืนให้กับการไฟฟ้า

2. ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร โดยขายไฟฟ้า : โดยการขายคืนกระแสไฟฟ้าจะขายคืนให้กับการไฟฟ้าในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาท/หน่วย โดยที่จะมีระยะเวลารับซื้อที่ 10 ปี

3. ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล : เป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าสำหรับกลุ่มโรงเรียน โรงเรียน โรงพยาบาล การเกษตร โดยมีการส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้า ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาท/หน่วย โดยที่จะมีระยะเวลารับซื้อที่ 10 ปี

สามารถอ่านรายละเอียดและลงทะเบียนออนไลน์ต่อได้ที่นี่ : https://myenergy.mea.or.th/

รู้จักกับอุปกรณ์สำคัญในการติดตั้งระบบผลิตพลังงาน Solar Roof Top

1. แผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) – เป็นแผงที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ตัวเซลล์สีจะออกไปทางโทนสีดำ สีน้ำเงินเข้ม มีหน้าที่ในการรับแสงอาทิตย์และทำการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ได้กระทบลงบนแผ่นโซล่าเซลล์

2. อุปกรณ์จับยึด – เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งและจับยึดแผงโซล่า กับพื้นผิวบนหลังคา ไม่ให้แผ่นโซล่าหลุดออกจากจุดที่ติดตั้งได้โดยง่าย

3. สายไฟ – เป็นเส้นทางในการลำเลียงกระแสไฟฟ้าที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์เข้าสู่ตัวแปลงกระแสหรืออินเวอร์เตอร์

4. ท่อร้อยสายไฟ – เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการร้อยสายไฟจากจุดต่าง ๆ จนถึงแผงโซล่าเซลล์ โดยท่อร้อยสายไฟมีหน้าที่ป้องกันสายไฟจากสภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งแดด ลม ฝุ่น แมลง และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สายไฟมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

5. ตู้แปลงกระแสไฟฟ้า หรืออินเวอร์เตอร์ – เป็นอุปกรณ์ที่แปลงกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรง (DC) ไปเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ (AC)

6. ตุ้จ่ายไฟ – เป็นอุปกรณ์ที่กระจายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น ไปยังจุดต่างๆ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

สรุป

โซล่าร์รูฟท็อป (Solar Roof Top) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประหยัดค่าใช่จ่ายในการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยมีการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ (Solar Cell) ทำการติดตั้งบนพื้นที่หลังคาบ้าน ระเบียง ที่ทำให้สามารถรับแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในปัจจุบันก็มีบริษัทที่รับติดตั้งอย่างแพร่หลาย มีรุ่นและราคาที่สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นอยู่กับปริมาณแผงโซล่าเซลล์ในการติดตั้ง

ขอบคุณที่มา :
scb.co.th
mea.or.th