ไฟดับ เกิดขึ้นเพราะอะไร ? พร้อมวิธีรับมือ

อยู่ๆ ก็ไฟดับ เป็นสถานการณ์ที่เชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่อยากพบเจอ เพราะการใช้ชีวิตในประจำวันของเรา แทบจะขาดไฟฟ้าได้ยาก และเมื่อไฟดับลง อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ก็จะหยุดทำงานลง ถ้าหากไฟดับในเวลากลางวันก็อาจจะมีผลกระทบแต่ก็จะน้อยกว่าในเวลากลางคืน

ไฟดับคืออะไร ?

ไฟดับ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบจ่ายไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถแจกจ่ายไฟฟ้าไปยังจุดต่างๆ ได้ ทำให้อุปกรณ์ปลายทางไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งไฟดับจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร ธรรมชาติ และอื่นๆ

โดยไฟฟ้าดับนั้น ถ้าเกิดในจุดที่สำคัญก็จะเป็นอันตรายเป็นอย่างมาก เช่น โรงพยาบาล โรงบำบัดน้ำเสีย และอื่นๆ เพราะอาจจะส่งผลต่อชีวิต และความเสียหายในวงกว้างได้

สาเหตุที่จะทำให้เกิดไฟฟ้าดับ

ไฟฟ้าลัดวงจร

1. เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

สาเหตุแรกที่มักจะพบได้ คือการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน ซึ่งจะทำให้ฟิวส์ขาด หรือสะพานไฟทิปลง ทำให้การจ่ายไฟฟ้าภายในบ้านหยุดลง ถ้าหากไฟฟ้าดับที่เกิดจากสาเหตุนี้จะต้องรีบหาจุดที่ไฟฟ้าลัดวงจรโดยไว เพื่อทำการแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อคนและทรัพย์สินภายในบ้าน

นอกจากนี้การเกิดไฟฟ้าลัดวรอาจจะเกิดจากสาเหตุภายนอกได้ โดยสัตว์บางชนิดที่สามารถปีนและบินขึ้นไปเกาะบนเสาไฟฟ้าได้ เช่น นก แมว หรือสัตว์อื่นๆ รวมถึงต้นไม้ โดยเมื่อไปเกาะหรือสัมผัสกับสายไฟฟ้า หรือลูกถ้วยก็มีโอกาสที่ทำให้ไฟช็อต ไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ไฟดับลง

ฟ้าผ่า

2. เกิดจากภัยธรรมชาติ

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ยิ่งเวลาฝนตกแรง มีลมแรง ฟ้าผ่า ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้จะทำให้ฟิวส์ หรืออุปกรณ์ป้องกันเกิดการทำงานทำให้ไฟตกในระยะเวลาสั้นๆ หรืออาจจะทำให้ไฟดับไปเลย ถ้าหากไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุนี้ก็อาจจะไปสับสะพานไฟขึ้น ก็กลับมาใช้งานไฟฟ้าได้ปกติเหมือนเดิม แต่ก็ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้พลังงานมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เหล่านั้นเสียหาย

เสาไฟฟ้าล้มจากภัยธรรมชาติ

3. เกิดจากอุบัติเหตุ

เป็นสาเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นจากความประมาทของบุคคล เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เสาไฟฟ้าล้มลง ส่งผลทำให้สายไฟขาด การตัดต้นไม้ที่อยู่ตามแนวเสาไฟฟ้า รวมถึงการใช้งานเครื่องจักรที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้า ถ้าหากไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุนี้ ก็จำเป็นจะต้องแจ้งให้กับการไฟฟ้า เพื่อที่จะเข้ามาทำการแก้ไข

รถการไฟฟ้า

4. เกิดจากการตัดกระแสไฟฟ้า

ในบางครั้งทางการไฟฟ้าได้มีการตัดไฟฟ้าด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ต้องการซ่อมแซม แก้ไข สายไฟ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ การชำรุด หรือการบำรุงรักษา โดยการไฟฟ้ามักจะมีการแจ้งบนเว็บไซต์ของการไฟฟ้าล่วงหน้าอยู่ตลอดอย่างน้อย 3 วัน

ดูประกาศการตัดกระแสไฟฟ้าได้ที่ : การไฟฟ้านครหลวง / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ผลกระทบจากไฟดับ

ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แทบจะใช้พลังงานไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น ทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความเย็น อุปกรณ์ให้แสงสว่าง หากไฟดับเป็นเวลานานๆ นอกจากจะไม่สามารถใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในการอำนวยความสะดวกได้ อาจจะร้อนอบอ้าวจากการที่ไม่มีพัดลม เครื่องปรับอากาศ และไม่มีไฟส่องสว่าง (ส่งผลมากในเวลากลางคืน) และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตได้

การรับมือกับไฟดับ

สะพานไฟ

1. ค้นหาสาเหตุของไฟดับ

สิ่งแรกที่ควรจะรู้คือ สาเหตุจากไฟฟ้าดับ ว่าเกิดจากสาเหตุใดในข้างต้น เช่น เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ภายในบ้านของตัวเอง แต่ถ้าหากเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง เช่นดับทั้งหมู่บ้าน สาเหตุเหล่านี้ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง จะต้องทำการแจ้งให้กับการไฟฟ้า เพื่อหาสาเหตุและรอการแก้ไข

ไฟฉาย

2. เตรียมอุปกรณ์จำเป็นในระหว่างไฟดับ

อุปกรณ์จำเป็นในระหว่างไฟดับ อาทิเช่น ไฟฉาย เทียน ไฟแช็ค หลอดไฟ LED ชุดปฐมพยาบาล ควรเตรียมไว้ให้พร้อม และวางไว้ในจุดที่สามารถหยิบจับได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดไฟดับในเวลากลางคืน ควรมีอุปกรณ์ส่องสว่าง เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และการตั้งเทียนก็ควรอยู่ห่างจากเชื้อไฟด้วย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะไม่คาดฝัน

รวมถึงไฟฉุกเฉิน ที่จะเป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างสำรองภายในอาคาร ซึ่งจะสว่างขึ้นโดยอัตโนมัติ ในระหว่างไฟฟ้าดับ ซึ่งไฟฉุกเฉินเหล่านี้จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งจะเห็นผลมากในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้

แบตเตอรี่

3. มีอุปกรณ์สำรองไฟ

อุปกรณ์สำรองไฟ เป็นอีกอุปกรณ์ที่มีความจำ หากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน อาจจะติดตั้งเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความสำคัญ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เพื่อทำให้เครื่องยังสามารถทำงานได้ในระหว่างที่ไฟดับ ที่จะช่วยชีวิตของผู้ป่วย และเตรียมแผนที่จะย้ายผู้ป่วยไปยังที่อื่น หรือโรงพยาบาลใกล้เคียง รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะได้ทำการเซฟงาน และทำการปิดเครื่องก่อนที่พลังงานจะหมดลง เพื่อลดโอกาสที่คอมพิวเตอร์จะเสียหาย

ปลั๊กไฟ

4. ทำการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดอยู่ทั้งหมด

หลังจากที่ไฟดับ ควรจะรีบสวิทช์การใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้ากลับมา อาจจะทำให้เกิดการไฟกระชาก ส่งผลทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดการเสียหายขึ้นได้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องการความเสถียรของไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ และช่วยป้องกันการลืมปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ไม่เสียการใช้ไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

ตู้เย็น

5. ลดการเปิดประตูตู้เย็น

ปกติแล้วเรามักจะแช่ของสดไว้ภายในตู้เย็น ซึ่งของสดเหล่านี้ก็จะเน่าและเสียได้โดยง่าย ดังนั้นในระหว่างที่ไฟดับ ก็ไม่ควรจะเปิดตู้เย็นบ่อยๆ เพราะภายในตู้เย็น ก็ยังมีความเย็นหลงเหลืออยู่ ยิ่งถ้าหากไฟฟ้าดับนั้นมีเวลานานมากๆ ก็ไม่ควรเปิดตู้เย็น เพื่อป้องกันการเน่าเสียของของสด

ห้างสรรพสินค้า

6. ออกไปเที่ยวข้างนอก

ถ้าหากไฟดับนั้นเกิดจากที่การไฟฟ้าประกาศแจ้งตัดไฟ เพื่อทำการแก้ไขระบบไฟฟ้า การเลือกเดินทางไปข้างนอก หรือไปเที่ยวที่อื่น ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะการไฟฟ้ามักจะตัดไฟฟ้าในเวลากลางวัน ถ้าหากอยู่ภายในบ้านพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็ทำงานไม่ได้ อาจจะทำให้อยู่บ้านแบบไม่สบายตัว ร้อน และอื่นๆ ดังนั้นการเดินทางไปที่อื่นที่อยู่นอกเหนือจากจุดที่การไฟฟ้าระบุในการตัดไฟ จึงเป็นการใช้เวลา พักผ่อน และรอการแก้ไขไฟฟ้าเสร็จสิ้น